โรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง

ประวัติโรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง

ประวัติโรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง

 

โรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เปิดเรียนเป็นทางการวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒  มีนักเรียนประมาณ ๕๐ คน  ครู ๒ คน  คือ นายแปลก ไวยมิตรา และมีนายจรูญ นาคแก้ว เป็นครูใหญ่ มีอาคารเรียนชั่วคราวเป็นรูปแบบโรงนา หลังคามุงจาก พื้นเป็นดิน  ตั้งอยู่ในที่ของนางสังเวียน เหราบัตร ณ หมู่ที่ ๓ ต.บางหวาย ( ปัจจุบันคือตำบลคลองหนึ่ง ) อ.คลองหลวง เรียกชื่อโรงเรียนตามตำบลที่ตั้งอยู่คือ โรงเรียนบางหวาย สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

          พ.ศ. ๒๔๘๓ นายเทียบ รอดแจ่ม ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และขุนนิกรนรารักษ์เป็นนายอำเภอคลองหลวง ได้รับงบประมาณ ๖๐๐ บาท มาซ่อมแซมและต่อเติมอาคารหลังเดิมเป็นรูปเรือนปั้นหยา มีมุขในตัว หลังคาสังกะสี ฝามุงจาก พื้นเป็นดิน ขนาด ๘ x ๑๘ เมตร จำนวน ๓ ห้องเรียน และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนิกรราษฎร์ศึกษา

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับงบประมาณมาซ่อมแซมประตู หน้าต่าง และพื้นที่เป็นดิน ของอาคารเรียนหลังเดิมให้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นเงิน ๒,๔๐๐ บาท

พ.ศ. ๒๔๙๖ นายชาญ จุ้ยกล่อม ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ได้รับงบประมาณ ๑๐,๒๐๐ บาท เทพื้นอาคารเรียนเป็นพื้นคอนกรีต ใช้เป็นอาคารเรียนถาวร

           พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับงบประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาท) สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ แบบ ๑ ซ. ใต้ถุนเตี้ย ขนาด ๘ x ๒๔ เมตร จำนวน ๓ ห้องเรียน โดยรื้ออาคารหลังเดิม มาประกอบการสร้างด้วย ณ หมู่ที่ ๑ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง โดยนายชื้น ทองแท้ ได้มอบที่ดินให้สร้างโรงเรียน จำนวน ๒ ไร่ คิดเป็นมูลค่า ๔๐,๐๐๐ บาท (สี่หมื่นบาท) และใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนคลองหนึ่ง ( ทองแท้อนุกูล )

          พ.ศ. ๒๕๐๘ นายชาญ จุ้ยกล่อมได้ลาออกจากราชการ จึงแต่งตั้งนายบุญเรือง ทับเสน รักษาการแทนครูใหญ่

พ.ศ. ๒๕๑๓ นายจำปี เกษร ขณะดำรงตำแหน่งครูใหญ่ บริจาคเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ( หนึ่งหมื่นบาท ) สมทบกับงบประมาณทางราชการ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ( สองแสนบาท ) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๑๐,๐๐๐ ( สองแสนหนึ่งหมื่นบาท ) สร้างเป็นอาคารเรียนแบบ ๐๑๕ สองชั้น รวม ๔ ห้องเรียน

          พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ขยายการศึกษา ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ทำให้อาคารเรียนไม่พอเพียง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จึงได้รับงบประมาณต่อเติมอาคารเพิ่ม ๒ ห้องเรียนเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท( หนึ่งแสนบาท ) อาคารเรียนหลังนี้ได้รับการต่อเติมจนเสร็จสมบูรณ์เต็มแบบครบ ๑๖ ห้องเรียน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่เนื่องจากมีข้อที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้บริจาคที่ดินกับทางราชการ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถพัฒนาปรับปรุงสถานศึกษา ให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ โรงเรียนจึงได้ขอบริจาคที่ดิน ที่อยู่ฝังถนนตรงข้ามกับที่ตั้งโรงเรียนเดิม ซึ่งเป็นที่ดิน ของนายสวัสดิ์ บุญคุ้มกับญาติ จำนวน ๓ ไร่ โดยทำหนังสือสัญญายกมอบที่ดิน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอำเภอคลองหลวง ( นายสุพร ศุภสร ) หัวหน้าหมวดการศึกษาอำเภอคลองหลวง (นายโสภณ ตันหลำบุตร) และครูใหญ่ (นายจำปี เกษร) ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๐ และในปีเดียวกันก็ได้รับงบประมาณ สร้างอาคารเรียนแบบ ๐๑๕ จำนวน ๙ ห้องเรียน ชั้นบน ๕ ห้องเรียน และชั้นล่าง จำนวน ๔ ห้องเรียน ส้วม ๑ หลัง จำนวน ๕ ที่ และบ้านพักครู ๑ หลัง

พ.ศ. ๒๕๒๑ นายศิริศักดิ์ ชาติงาม ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ได้แบ่งนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ มาเรียนที่อาคารเรียนแห่งใหม่ก่อน จนกระทั่งถึง เปิดเรียนต้นปีการศึกษา ๒๕๒๒ จึงย้ายนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ มาเรียนรวมกันที่โรงเรียนใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งขออนุญาตเปิดสอนชั้นเด็กเล็กด้วย ตามหนังสือที่ ๕๖/๕๗๔ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒

พ.ศ. ๒๕๒๓ นายวิชัย ซาตะนัย ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ได้รับงบประมาณสร้างส้วม ๔ ที่นั่ง พร้อมที่ปัสสาวะ เป็นเงิน ๓๒,๑๕๕ บาท

          ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับอนุมัติการปรับปรุงตำแหน่งผู้บริหารเป็นตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ และตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ เนื่องจากมีปริมาณนักเรียนครบเกณฑ์ สปจ.จึงแต่งตั้งให้ นายวิชัย ซาตะนัย ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ และนายแนบ นามธานี ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ เป็นต้นมา

          ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ นายสวัสดิ์ บุญคุ้ม พร้อมญาติได้โอนโฉนดที่ดิน เลขที่ ๑๘๘๕๔ จำนวน ๓ ไร่ ๗๒ ตารางวา ให้กับทางราชการ คิดเป็นเงินประมาณ ๑,๒๗๒,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนเจ็ดหมื่นสองพันบาทถ้วน) ใช้ปลูกสร้างอาคารเรียน และใช้ประโยชน์ทางการศึกษาของโรงเรียนเป็นการถาวร

          ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดปทุมธานี ได้อนุมัติการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายสวัสดิ์ บุญคุ้ม และญาติ ที่บริจาคที่ดินให้สร้างโรงเรียน

          ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ นายสวัสดิ์ บุญคุ้ม พร้อมญาติได้ทำหนังสือบริจาคที่ดินให้กับโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก ๑ ไร่ และโรงเรียนได้จัดหาทุนซื้อดินถมที่บริเวณที่รับบริจาคเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างอาคารเรียน และสร้างอาคารประกอบ เสร็จเรียบร้อยเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๗

          ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณปี ๒๕๒๖ เป็นเงิน ๘๒๔,๐๐๐ บาท (แปดแสนสองหมื่นสี่พันบาท) สร้างอาคาร สปช.๒๐๕/๒๕๒๖ (อาคารอเนกประสงค์) ขนาด ๑๔*๓๒ เมตร

          ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณปี ๒๕๒๖ เป็นเงิน ๑,๐๔๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสี่หมื่นบาทถ้วน) สร้างอาคารเรียน สปช.๑๐๕/๒๕๒๖ อาคารตึก จำนวน ๘ ห้องเรียน

          ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ รื้อย้ายอาคารเรียนหลังเก่า จากฝั่งถนนพหลโยธิน มาต่อเติมอาคารเรียนหลังปัจจุบัน จำนวน ๕ ห้องเรียน งบประมาณ สปช.ปี ๒๕๒๗ เป็นเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท (หกแสนบาทถ้วน)

          ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ สร้างรั้วถาวรด้านหน้า ยาว ๑๕๐ เมตร โดยได้รับความร่วมมือจากคหบดีในท้องถิ่น คณะครู และผู้ปกครองนักเรียน คิดเป็นเงิน ๑๐๒,๘๔๙ บาท (หนึ่งแสนสองพันแปดร้อยสี่สิบเก้าบาทถ้วน)

          ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙ สร้างพระพุทธรูปพร้อมมณฑป ขนาด ๒๕ นิ้ว ราคา ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) โดยการนำของนายสวัสดิ์ บุญคุ้ม ญาติคณะครูผู้ปกครองนักเรียน

          ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐ สร้างอาคารเรียน ๓ ชั้น แบบ ๒/๒๘ จำนวน ๙ ห้องเรียน งบประมาณ ๑,๘๙๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านแปดแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน)

          ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ สร้างรั้วถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้านทิศตะวันออกสูง ๒.๐๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร โดยเงินรายได้จากงานสงเคราะห์เยาวชน จำนวน ๕๒,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน)

          ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับงบประมาณ สปช. จำนวน ๒,๔๙๒,๑๐๐ บาท (สองล้านสี่แสนเก้าหมื่นสองพันหนึ่งร้อยบาท) สร้างอาคารเรียนแบบ สปช.๒/๒๘ จำนวน ๙ ห้องเรียน เป็นอาคารเรียนที่สร้างครบตามแบบรวม ๑๘ ห้องเรียน

          ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. ๒/๒๘ จำนวน ๙ ห้องเรียน งบประมาณ สปช. เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๓,๑๑๐,๐๐๐ บาท (สามล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๐

          ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ก่อสร้างส้วมแบบ สปช.๖๐๑/๒๕๒๖ จำนวน ๒ หลัง หลังละ ๘ ห้อง จำนวนเงิน ๑๕๙,๐๐๐ (หนึ่งแสนห้าหมื่นเก้าพันบาท)

          ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับมอบห้องเรียนสีเขียวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีรองเลขาธิการ กปช. เป็นตัวแทนในการรับมอบ

          ๒๗ เมษายน ๒๕๔๓ – ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ก่อสร้างรั้วรอบบริเวณโรงเรียนส่วนที่เหลืออยู่จนเสร็จเรียบร้อย โดยใช้เงินกองทุนโรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง

          ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปรับปรุงอาคารเรียน ๒ (อาคารเรียนชั้นมัธยมศึกษา) โดยปรับยกระดับพื้นห้องเรียนสูงขึ้นอีก ๓๐ เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝน ปรับยกระดับประตูหน้าต่างอาคารเรียนชั้นล่างรวม ๔ ห้องเรียน โดยใช้งบประมาณจากเงินบำรุงการศึกษา เป็นจำนวนเงิน ๙๙,๕๑๐ บาท (เก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยสิบบาทถ้วน)

          พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ก่อสร้างอาคารเรียน สปช.๒/๒๘ จำนวน ๑๖ ห้องเรียน โดยใช้ชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา”

          พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้อำนวยการโรงเรียน นายชุมพล ยอดเจริญ ได้ปรับปรุงอาคาร ๒ ชั้นล่างจำนวน ๓ ห้องเรียน เป็นห้องประชุมมรกต

          พ.ศ. ๒๕๕๔ โรงเรียนประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงเกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ทั้งอาคารเรียน และบริเวณโดยรอบ

          พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้รับงบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นเงิน ๓,๑๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) ก่อสร้างหลังคาคุมลานอเนกประสงค์ (อาคารโดม) ขนาดกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๘๕ เมตร สูง ๑๑ เมตร

          พ.ศ. ๒๕๕๖ นายชุมพล ยอดเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียน ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ลานอเนกประสงค์ เทพื้นคอนกรีตตลอดบริเวณพื้นที่ประมาณ ๑,๒๐๐ ตารางเมตร หนา ๗ – ๑๐ เซนติเมตร จัดทำรางระบายน้ำ พร้อมฝาปิด ๑๕๐ เมตร โดยนำเงินที่ได้จากงานทอดผ้าป่าสามัคคี ในวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เงินประมาณ ๖๘๐,๐๐๐ บาท (หกแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)

ปัจจุบัน โรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๑ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมด ๔ ไร่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน ๕ หลัง บ้านพักครู

๑ หลัง ห้องน้ำห้องส้วม ๓ หลัง มีครูผู้ชาย ๘ คน ครูผู้หญิง ๔๑ คน นักการภารโรง ๑ คน ลูกจ้างทำความสะอาด ๒ คน แม่ครัว ๕ คน ครูอัตราจ้าง ๙ คน เจ้าหน้าที่ธุรการ ๑ คน นายชุมพล  ยอดเจริญ ดำรงผู้อำนวยการสถานศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓